วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เนกขัมมานิสงสกถา

ในเนกขัมมานิสงส์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศโดยปริยายเป็นอันมากควรฟังควรตรอง แต่จะยกมาแสดงในที่นี้พอได้ใจความโดยสังเขป ดังพระองค์ทรงสอนเบญจวัคคีย์ว่า เทวฺ เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา แน่ะ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะบรรพชิตไม่พึงเสพสภาวธรรมมีเงื่อนไข ๒ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ตั้งความเพียรทำตนให้ติดเนื่องอยู่ด้วยกามสุข ๑ คือ อัตตกิลมถานุโยค ตั้งความเพียรทำตนให้ลำบากเหน็ดเหนื่อยเปล่า ๑.

ธรรมชาติทั้ง ๒ นี้ ฮีโน เลว ของเลวทราม คมฺโม เป็นของชาวบ้าน โปถุชฺชนิโก เป็นของแห่งปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส อนริโย ใช่ของแห่งพระอริยะ อนตฺถสญฺหิโต เป็นธรรมหาประโยชน์มิได้คุมอยู่ด้วย.
แล้วทรงแสดงมัชฌิมาทางกลาง คือ อัษฏางคิกมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ว่าเป็นมรรคาไม่แวะเวียนเกาะเกี่ยวด้วยลามกธรรมมีเงื่อน ๒ นั้นดังนี้

ได้ใจความว่าพระอัฏฐังคิกมรรค ควรนับว่าเนกขัมมธรรมเป็นคุณเครื่องออกจากกามแท้ส่วน ๑ เพราะวิธีออกจากกามมีประเภทเป็น ๒ คือ ออกด้วยกายอย่าง ๑ ออกด้วยใจอย่าง ๑ ออกด้วยกายนั้น คือถือเพศบรรพชาเป็นอย่างประเสริฐ เพราะบรรพชาเพศเป็นวิเวกห่างไกลต่ออารมณ์ เครื่องเย้ายวนจิต. ความเป็นจริง ผู้ตั้งใจจะงดเว้นหลีกเลี่ยงกามสุขเมถุนวิรัติ จะถือเพศนุ่มดำห่มดำ แดง เขียว ขาว เหลือง ใส่เสื้อใส่กางเกง หนวด ผม ยาว สั้น ไม่ต้องนิยม ชื่อว่าบรรพชิตทั้งสิ้น ในผู้ถือเพศบรรพชิตปฏิญาณตนว่าเป็นบรรพชิตเหล่านั้น พวกใดยังประกอบกิจเกื้อกูลแก่เรือนเนื่องด้วยบุตรภรรยาอยู่ ไม่ควรนับว่าบรรชิตเลย เพราะไม่มีเนกขัมมคุณเครื่องออกจากกาม ความที่ได้กายวิเวกนั้นเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่จิตตวิเวก คือผู้เป็นบรรพชิต พรากกายจากกามารมณ์ได้แล้ว ต้องตรวจตรองให้เกิดศรัทธาวิริยะ ทำสติสมาธิปัญญาให้เกิด ถ้าสติสมาธิตั้งได้แล้ว จิตมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแล้ว จิตย่อมพรากจากกามวิตกพยาบาทวิตก วิหึสาวิตก นับว่าเป็นสัมมาวิตักโก เป็นเนกขัมมคุณเครื่องออกจากกามด้วยใจ ได้ใจความว่าการประพฤติพรต เมถุนวิรัติได้แล้วเป็นเนกขัมมคุณออกจากกามด้วย กาย ทำให้เกิดสมาธิจิต ห้ามกามวิตกได้เป็นเนกขัมมคุณออก จากกามด้วยใจ ผู้ออกจากกามได้ในชั้นนี้ ไม่ถึงสมุจเฉทวิรัติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ย่อมได้รับผล คือความสุขกายและจิต เพราะมิได้ประกอบกิจเกื้อกูลผู้อื่นด้วยการแสวงหาเลี้ยงชีพ และเป็นโอกาสอันปลอดโปร่ง ไม่มีการขัดข้อง ในกิจที่จะเจริญสมถะวิปัสสนา เพื่อสำเร็จศีลและฌาน เปิดโอกาสทางมาแห่งวิชชาวิมุติ อันเป็นที่สุดแห่งเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ เพราะปราศจากเวรภัย เสร็จกิจตามอุปนิสัยของผู้ประพฤติพรต เป็นอานิสงส์แห่งเนกขัมมคุณอย่างยิ่ง ดังนี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ