วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สัคคกถา

ในสัคคกถา พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดง โดยอเนกปริยายมิใช่อันเดียว จะยกมาแสดงไว้ในที่นี้แต่พอสังเขปได้ใจความ คำที่ว่า สัคโค แปลว่า สวรรค์, แปลว่าสวรรค์อีกที่หนึ่ง ว่าโลกมีอารมณ์อันเลิศ หรือโลกเลิศด้วยอารมณ์ ได้ความตามที่มาว่า รุกขเทวดา ภุมมเทวดา อากาศเทวดา จาตุมหาราชิกาเทวดา ถึงชั้นปรนิมมิตวัสสวดีเหล่านี้ชื่อว่าสวรรค์ถึงชั้นพรหมก็ชื่อว่า สวรรค์ เพราะมีอารมณ์อันเลิศ ตามที่มาว่า เทวนิกายทั้งหลายเหล่านั้นแต่ละองค์ ๆ ทรงรูปโฉมอันผึ่งผายเพริดเพราพรายแสงแวววับ ทรงเครื่องประดับสร้อยสังวาลย์ มีทิพย์พิมานสำราญอาสน์ทองเงินนาคส่งฉายา มีนางเทพธิดาพันหมื่นแสน นั่งเฝ้าแหนคอยบำเรอ ให้ท้าวเธอเทวราช อยู่บนอาสน์ลุ่มหลงกาม ประพฤติตามต้องอัธยาศัย ทิพยโภคัย โภชนาหาร ล้วนตระการโอชารส ไม่ต้องอด ไม่ต้องหิว ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องหา ไม่ต้องทำนา ไม่ต้องทำสวน ล้วนของทิพย์เกิดด้วยบุญ เพราะต้นทุนคือทาน ศีล ภาวนา ที่ตนทำด้วยศรัทธา เกิดเป็นเทวาน่าพิศวง ทั้งอายุเล่าก็ยืนหมื่นพันปี ของเทวโลกกล่าวแต่พอสังเขปจะพรรณนาทิพยสมบัติ โสตไม่พอฟัง น่าเพลิดเพลินจริง ๆ อย่าว่าแต่เทวโลกเลย แต่สุขสมบัติในมนุษย์โลกยังไม่อาจที่จะพรรณนาให้ทั่วถึงได้สำเร็จด้วยบุญญา ภินิหาร ดังบรมราชาเสวกามาตย์เศรษฐีคฤหบดีในสกลโลกทุกวันนี้ ก็ย่อมมีอารมณ์อันเลิศ คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สารพัดล้วนอุดม ตึก ร้าน บ้าน เรือน โรง ดูระหงดัง วิมาน ไฟฟ้า ไฟสวรรค์ใช้ส่องแสงโบกพัดวีไปมาตามวิถีรถม้าเทศอัดแจ มอเตอร์คาเดินด้วยไอได้ดังใจสมประสงค์ กัลยาอนงค์นวลขึ้นเทียมคู่บนรถา รถเจ๊กและรถไอทั้งรถไฟทั่วทิศา ชลมารคล้วนนาวา ใช้ไฟฟ้าไฟถ่านฟืน กลางวันและกลางคืน ดูครึกครื้นทั่วนครา แก้วแหวนและเงินตรานับไป่ถ้วนควรปรีดิ์เปรม สมบัติมนุสสา ฉกามาทำไมกัน เพลิดเพลินทุกคืนวัน มฤตยุราชที่ไหนมี.

ถ้าจะเล็งรูปศัพท์เป็นประมาณ มนุษย์สมบัติก็ควรกล่าวว่า สัคโค หรือ สวรรค์ได้ ไม่ต้องมีความสงสัยความเป็นจริง มนุษย์สมบัติดังที่พรรณนามานี้ ก็ย่อมสำเร็จด้วยบุญญานุภาพ คือ ทาน ศีล ภาวนา ที่ตนสร้างสมมา ด้วยอำนาจศรัทธาแต่บรรพชาติเป็นเที่ยงแท้.

ถ้าผู้ใดต้องการความสุขในมนุษย์โลกและเทวโลก ไม่ควรประมาทในทาน ศีล ภาวนา เมื่อยังไม่ถึงพระนิพพานจะได้เป็นที่อาศัยเป็นสุขไปทุกชาติ ๆ

เนกขัมมานิสงสกถา

ในเนกขัมมานิสงส์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศโดยปริยายเป็นอันมากควรฟังควรตรอง แต่จะยกมาแสดงในที่นี้พอได้ใจความโดยสังเขป ดังพระองค์ทรงสอนเบญจวัคคีย์ว่า เทวฺ เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา แน่ะ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะบรรพชิตไม่พึงเสพสภาวธรรมมีเงื่อนไข ๒ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ตั้งความเพียรทำตนให้ติดเนื่องอยู่ด้วยกามสุข ๑ คือ อัตตกิลมถานุโยค ตั้งความเพียรทำตนให้ลำบากเหน็ดเหนื่อยเปล่า ๑.

ธรรมชาติทั้ง ๒ นี้ ฮีโน เลว ของเลวทราม คมฺโม เป็นของชาวบ้าน โปถุชฺชนิโก เป็นของแห่งปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส อนริโย ใช่ของแห่งพระอริยะ อนตฺถสญฺหิโต เป็นธรรมหาประโยชน์มิได้คุมอยู่ด้วย.
แล้วทรงแสดงมัชฌิมาทางกลาง คือ อัษฏางคิกมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ว่าเป็นมรรคาไม่แวะเวียนเกาะเกี่ยวด้วยลามกธรรมมีเงื่อน ๒ นั้นดังนี้

ได้ใจความว่าพระอัฏฐังคิกมรรค ควรนับว่าเนกขัมมธรรมเป็นคุณเครื่องออกจากกามแท้ส่วน ๑ เพราะวิธีออกจากกามมีประเภทเป็น ๒ คือ ออกด้วยกายอย่าง ๑ ออกด้วยใจอย่าง ๑ ออกด้วยกายนั้น คือถือเพศบรรพชาเป็นอย่างประเสริฐ เพราะบรรพชาเพศเป็นวิเวกห่างไกลต่ออารมณ์ เครื่องเย้ายวนจิต. ความเป็นจริง ผู้ตั้งใจจะงดเว้นหลีกเลี่ยงกามสุขเมถุนวิรัติ จะถือเพศนุ่มดำห่มดำ แดง เขียว ขาว เหลือง ใส่เสื้อใส่กางเกง หนวด ผม ยาว สั้น ไม่ต้องนิยม ชื่อว่าบรรพชิตทั้งสิ้น ในผู้ถือเพศบรรพชิตปฏิญาณตนว่าเป็นบรรพชิตเหล่านั้น พวกใดยังประกอบกิจเกื้อกูลแก่เรือนเนื่องด้วยบุตรภรรยาอยู่ ไม่ควรนับว่าบรรชิตเลย เพราะไม่มีเนกขัมมคุณเครื่องออกจากกาม ความที่ได้กายวิเวกนั้นเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่จิตตวิเวก คือผู้เป็นบรรพชิต พรากกายจากกามารมณ์ได้แล้ว ต้องตรวจตรองให้เกิดศรัทธาวิริยะ ทำสติสมาธิปัญญาให้เกิด ถ้าสติสมาธิตั้งได้แล้ว จิตมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแล้ว จิตย่อมพรากจากกามวิตกพยาบาทวิตก วิหึสาวิตก นับว่าเป็นสัมมาวิตักโก เป็นเนกขัมมคุณเครื่องออกจากกามด้วยใจ ได้ใจความว่าการประพฤติพรต เมถุนวิรัติได้แล้วเป็นเนกขัมมคุณออกจากกามด้วย กาย ทำให้เกิดสมาธิจิต ห้ามกามวิตกได้เป็นเนกขัมมคุณออก จากกามด้วยใจ ผู้ออกจากกามได้ในชั้นนี้ ไม่ถึงสมุจเฉทวิรัติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ย่อมได้รับผล คือความสุขกายและจิต เพราะมิได้ประกอบกิจเกื้อกูลผู้อื่นด้วยการแสวงหาเลี้ยงชีพ และเป็นโอกาสอันปลอดโปร่ง ไม่มีการขัดข้อง ในกิจที่จะเจริญสมถะวิปัสสนา เพื่อสำเร็จศีลและฌาน เปิดโอกาสทางมาแห่งวิชชาวิมุติ อันเป็นที่สุดแห่งเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ เพราะปราศจากเวรภัย เสร็จกิจตามอุปนิสัยของผู้ประพฤติพรต เป็นอานิสงส์แห่งเนกขัมมคุณอย่างยิ่ง ดังนี้แล

กามาทีนวกถา

ในกามาทีนวกถา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง โดยปริยาย มิใช่อันเดียว จะยกมาแสดงในที่นี้แต่สังเขปพอได้ใจความ กามแปลว่า ความใคร่ความติดใจ ท่านแบ่งเป็น ๒ คือ กิเลสกามอย่าง ๑ วัตถุกามอย่าง ๑ ความกำหนัดรักใคร่ ยินร้าย ยินดี โลภ โกรธ หลง เป็นต้น เป็นลักษณะของกิเลส รูป รส เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณทรัพย์ เป็นลักษณะของวัตถุ.

ถ้าจะย่นลงคงเป็นหนึ่ง เพราะวัตถุก็เป็นที่ตั้งของกิเลส ถ้าไม่มีวัตถุเป็นที่ตั้ง กิเลสก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ตกลงวัตถุ ๑ กาม ๑ กิเลส ๑ ประชุมกันเข้าเป็นกามกิเลส ย่นกามกิเลสลงเป็นหนึ่ง คงเหลืออยู่แต่กาม ถ้ากล่าวว่ากามคำเดียวเท่านั้น ผู้ฟังต้องเข้าใจว่า ได้กล่าวพร้อมทั้ง ๓ ประการ บรรดากามทั้งหลายจะเป็นของมนุษย์ หรือเป็นของทิพย์ก็ตาม ความเป็นจริงย่อมมีความยินดีน้อย ประกอบด้วยโทษทุกข์ภัยความคับแค้นมากลำบากในสามกาล คือการแสวงหา ๑ การบริหารรักษา ๑ การวิโยคพลัดพราก ๑. ความเป็นจริงของสัตวโลกที่ได้รับโทษทุกข์ภัยความคับแค้นต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปอยู่ทุกวันนี้ ย่อมมีกามเป็นต้นเหตุ ผู้ที่ติดคุกติดตารางจองโซ่จำตรวนซึ่ง เป็นไปอยู่ทุกวันนี้ ก็มีกามนั้นเองเป็นต้นเหตุ ผู้ที่เป็นคดีร้องฟ้องต้องฏีกาตามโรงศาลตามชั้นตามภูมิ เป็นต้นว่า พระราชาต่อพระราชายกพยุหยาตราเข้าประชิดชิงชัยซึ่งกันและกัน หรือพ่อค้า เศรษฐี กุฎมพี แพศย์ ศูทร เป็นต้น จะเกิดวิวาทขึ้นเจ้า ขึ้นข้า ท้าทายจับท่อนไม้ก้อนดิน ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ย่อมมีกามเป็นต้นเหตุ ธรรมชาติของกามมีความยินดีน้อย มีโทษทุกข์ภัยมาก ลำบากแก่ผู้ปกครอง กามทั้งหลายท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนหลุมถ่านเพลิง อาจที่จะทำบุคคลผู้ตกลงไปให้ถึงความตายหรือได้รับทุกข์แทบประดาตาย อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้เหมือนก้อนมังสะ ถ้าสัตว์ตัวใดคาบไว้ ย่อมได้รับสับตอดขบกัดแต่หมู่ของตน อีกอย่างหนึ่งท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคบเพลิง ถ้าผู้ใดถือไว้ไม่ว่าง เมื่อต้องลม ย่อมจะคุล่วงเผาผลาญร่างกายให้ได้ความลำบาก อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนผลไม้ เมื่อมีขึ้นในต้นใด ย่อมทำให้กิ่งก้านสาขาให้ยับเยินป่นปี้ เกิดแต่ผู้ต้องการผล อีกอย่างหนึ่งท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคบดาบและคมหลาว ผู้ใดเผลอไม่ระวังไปกระทบเข้า ย่อมจะได้รับความเจ็บปวดทุกขเวทนา อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนศีรษะงูอสรพิษ ผู้ไม่พินิจไปเหยียบเข้า ย่อมจะได้รับทุกข์เกิดแต่พิษถึงแก่ตายหรือแทบประดาตาย อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนเขียงสับเนื้อเข้า เขาต้องการสับแต่เนื้อ โดนเขียงกร่อนลงทุกที อีกอย่างหนึ่ง กามทั้งหลายท่านเปรียบไว้ดังของยืมท่านมาใช้ เสร็จกิจแล้วต้องส่งเจ้าของไป อีกอย่างหนึ่ง ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนของฝันเห็น ตื่นแล้วก็สูญไปเท่านั้นอาศัยส่วนเปรียบของกามตามที่ท่านกล่าวไว้นั้น ได้ใจความว่ามีความสุขความยินดีน้อย ประกอบด้วยโทษทุกข์ภัยความคับแค้นมาก เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ในโลกก่อนพุทธกาลหรือครั้งพุทธกาล หรือในทุกวันนี้ก็มักเห็นโทษของกาม จึงพากันบรรพชา ประพฤติพรตเว้นกามาฆรสถานเป็นฤาษีปริพาชกนับไม่ถ้วน หวังเพื่อจะหนีกามเป็นต้นเหตุ ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็เห็นโทษของกามจึงได้ออกภิเนกษกรมณ์ ทรงผนวช ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้อมตธรรมของจริงแล้ว ก็ยกโทษของกามขึ้นแสดงว่าเป็นของผิด ดังแสดงกามสุขัลลิกานุโยค ในเบื้องต้นแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นตัวอย่าง พอเป็นทางให้เราทั้งหลาย ตรองตามว่ากามทั้งหลายเป็นของมีโทษจริงด้วย เมื่อเห็นโทษขอมกาม ซึ่งเป็นส่วนของมนุษย์ ประกอบด้วยโทษอย่างนี้ ๆ แม้ถึงกามารมณ์ซึ่งเป็นของทิพย์ของสวรรค์ ก็คงมีโทษมากคุณน้อยเหมือนกัน เพราะไม่พ้นลักษณะทั้ง ๓ คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่แปรไปเป็นธรรมดา ถึงจะเป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ยังตกอยู่ในระหว่างไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง แล้วจะไปหมายเอา ความ สุขมาแต่ที่ไหนหรือจะเห็นว่า อายุยืนมีความสุข ในข้อนี้ตรองดูให้ดี อายุยืนอายุสั้นก็เท่ากัน เพราะความสุขความทุกข์มีจำเพาะปัจจุบันเท่านั้น ถึงจะมีอายุยืนเท่าไร สุขทุกข์ที่เป็นอดีตแต่เช้า วันนี้ถอยหลังคืนไปจนถึงวันเกิด จะเอามาเป็นสุขเป็นทุกข์ในกลางวันวันนี้ก็ไม่ได้ ความสุขความทุกข์ที่เป็นส่วนอนาคตยังไม่มาถึง นับแต่เย็นวันนี้ไปจนถึงวันตาย จะเอามาใช้เป็นสุขเป็นทุกข์ในกลางวันวันนี้ก็เป็นอันไม่ได้ จำเพาะใช้ได้แต่สุขทุกข์ซึ่งเป็นส่วนปัจจุบันอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าใช้แต่สุขและทุกข์ส่วนปัจจุบันเท่านั้น ถึงอายุยืนอายุสั้นก็เท่ากัน มีปัจจุบันด้วยกัน.

ถ้าตรึกตรองให้เห็นโทษและคุณ ปรากฏขึ้นด้วยตนเช่นนี้ ก็คงจะมีความเบื่อหน่ายในกามรมณ์ เพราะเห็นความไม่เที่ยงแปรไป เป็นทุกข์เป็นอนัตตาทั่วไป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกองรูปภายในก็ไม่เที่ยง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นกองรูปภายนอกคู่กับรูปภายในก็ไม่เที่ยง ใจเป็นนามธรรม ภายในก็ไม่เที่ยง ธรรมมารมณ์เป็นนามธรรมภายนอก คู่กับนามธรรมภายในไม่เที่ยง เมื่อสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นของไม่เที่ยงบีบคั้นอยู่ จะสุขจะทุกข์อย่างไรก็ดี จะควรเลื่อมใสยินดีด้วยเรื่องอะไร รูปนามนั้นเองเป็นชาติกาม ก็รูปนามเป็นของไม่เที่ยงอยู่โดยธรรมดา กามทั้งหลายถึงจะเป็นของทิพย์ของสวรรค์ ชื่อว่าเป็นของไม่เที่ยงทั้งสิ้น ใช่จะไม่เที่ยงอย่างเดียวเมื่อไร ยังมีเพลิงเผาอยู่ด้วย คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส แต่ละอย่าง ๆ ท่านกล่าวว่า เป็นเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ บีบคั้นอยู่ทุกเมื่อด้วย คิดดูให้ดีน่าสมเพชเวทนานี้หนักหนา